ฃุนน้อย : เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นสุโขทัย-ลายสือไท

2259
views

หนังสือ “ฃุนน้อย” ฉบับ ลายสือไทและภาษาถิ่นสุโขทัย ฉบับนี้ เป็นผลงานสืบเนื่องจากนิทรรศการ “เจ้าชายน้อย : หนังสือ ของสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” ซึ่งจัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในปี พ.ศ.2563

หนังสือ “ฃุนน้อย” ฉบับนี้แปลขึ้นใหม่เป็นภาษาท้องถิ่นสุโขทัยและถ่ายถอดคำแปลด้วยอักษร “ลายสือไท สมัยสุโขทัย”  ในการแปลอาศัยต้นฉบับ “เจ้าชายน้อย” ของ อริยา ไพฑูรย์ และ“ท้าวน้อย” ฉบับภาษาลาวของ สีสะเหลียว สะแหวงสึกสา เทียบเคียงกับต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นสื่อกลางของการ “สนทนาข้ามวัฒนธรรม” โดยคาดหวังว่าผลงานชิ้นนี้ จะช่วยเปิดประเด็นข้อถกเถียงและการศึกษาเกี่ยวกับ “การแปล-ภาษา-วัฒนธรรม (ท้องถิ่น)” และส่งเสริม “ความเข้าใจ” ความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปรัชญาของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและพันธกิจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ฯ

การจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิฌอง-มาร์ค โพรบสท์เพื่อเจ้าชายน้อย (Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) และมูลนิธิแบร์นาร์ด (Fondation Bernard) เมืองโลซานน์ สวิสเซอร์แลนด์ โดยได้มอบต้นฉบับภาพประกอบเพื่อการจัดพิมพ์ในครั้งนี้ด้วย

ปกหนังสือ “ฃุนน้อย” ที่จัดพิมพ์ขึ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราว ลายเส้นและตัวอักษรสมัยสุโขทัยที่จำหลักบนแผ่นหินชนวนที่ค้นพบในอุโมงค์วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัยมาพิมพ์ประกอบด้วย และพิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดส่งหนังสือ “ฃุนน้อย” ให้กับห้องสมุดโรงเรียนในจังหวัดสุโขทัยและห้องสมุดมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์สำหรับสาธารณชน

สำหรับผู้ที่สนใจ “ฃุนน้อย” สามารถโหลดอ่านได้ที่นี่ ฃุนน้อย : เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นสุโขทัย-ลายสือไท